กีฬาปีนผา และบทสัมภาษณ์นักกีฬาปีนผาตัวแทนประเทศไทย

กีฬาปีนผา แสงแดดส่องลอดผ่านกิ่งไม้ที่ปกคลุมรอบเชิงเขาย้อย เพชรบุรี ดูร่มรื่นไปถนัดตา ภูเขาเบื้องหน้านั้นดูยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์อย่างเราเสียเหลือเกิน

สองเท้าสวมใส่รองเท้า มือทั้งสองผลัดกันล้วงถุงแป้งแมกนีเซียมคาร์บอเนต เอื้อมจับซอกหินข้างหน้า สองเท้าปีนป่ายตามขึ้นไปบนหน้าผาที่สูงชัน

ไม่มีใครรู้ว่าข้างบนหน้าผามีอะไรรออยู่

ขณะที่เราปีนนั้นใจก็คิดไปต่างๆ นานา เรากำลังทำอะไรอยู่ กลัวความสูงแท้ๆ แต่อีกใจก็ตะโกนให้กำลังใจตัวเอง ต้องทำได้ เธอต้องเอาชนะความกลัวไปให้ได้

สองมือเกาะตามร่องหินพยุงตัวขึ้นไป สมองคิดตลอดเวลาต้องใช้ท่วงท่าไหน โยกย้ายและเคลื่อนตัวแบบไหนถึงจะคงความสมดุลร่างกายในการปีน สายตามองสำรวจร่องหินไหนจับง่ายหรือจับยาก

เหงื่อไหลท่วมแผ่นหลังและมือของเราตลอดเวลา ทำให้ต้องปีนไปล้วงแป้งแมกนีเซียมฯ ไปตลอด

วินาทีที่ปีนหน้าผาจบเส้นทาง ไม่น่าเชื่อเลยว่าเหมือนได้มอบรางวัลชีวิตให้กับตัวเอง เป็นรางวัลจากความกล้า กล้าที่จะลบความกลัวออกไป กล้าที่จะลองเล่นกีฬาผาดโผนชนิดนี้

การปีนหน้าผาจริงอาจดูยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่หากคุณอยากลอง กรุงเทพฯ ก็มีหน้าผาจำลองไว้คอยบริการเหล่าผู้รักกีฬาผาดโผนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า

ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๑๑ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ กว้างเพียงรถยนต์หนึ่งคันเท่านั้น จากปากซอยมาเพียงอึดใจก็ถึงยิม Proclimber Thailand หากดูจากภายนอกก็เหมือนบ้านทั่วๆ ไป แต่ภายในมีผนังหินหลายรูปทรงหลากสีติดตามผนัง ทางลึกมีผนังหินหลายขนาดหันหน้าชนกัน ด้านซ้ายมีหินติดรอบผนังแนวนอนสูงประมาณ ๓ เมตร และผนังไม้ไว้ให้ผู้ที่มาใช้บริการได้ยืดกล้ามเนื้อก่อนปีน

แต่ละผนังจะมีเบาะหนาๆ คอยรองรับแรงกระแทกจากการกระโดดลงมาของนักกีฬาหลังจากปีนจบ

“สวัสดีครับ เชิญนั่งก่อนครับ” เสียงของสิน เด็กหนุ่มร่างสูงโปร่งวัย ๒๐ ปี ร่างกายเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อที่ได้สัดส่วน

สินรู้จักกับกีฬาปีนผาครั้งแรกสมัย ป.๓ ตอนเข้าค่ายลูกเสือ โรงเรียนจัดกิจกรรมปีนหน้าผาจำลอง ช่วง ๓ เมตรแรกสินไม่สามารถปีนได้เลย เด็กน้อยอย่างเขาขาสั่นและไปไม่จบเส้นทาง แต่ด้วยความชอบท้าทายตัวเอง เขาเลยลองปีนใหม่อีกหลายรอบ อีก ๓ วันให้หลังจึงปีนได้สำเร็จ

นี่คือคำบอกเล่าจากสิน หรือชื่อตามบัตรประชาชน นายวินัย เรืองฤทธิ์ นักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติชุดใหญ่ของประเทศไทย ที่ทั้งประเทศมีเพียงนักกีฬาผู้ชายห้าคน และนักกีฬาผู้หญิงสี่คน เล่าด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มเมื่อหวนนึกถึงความทรงจำครั้งแรกที่ได้รู้จักกับกีฬาปีนหน้าผา (sport climbing)
กีฬาปีนหน้าผามีถิ่นกำเนิดมาจากทางยุโรปเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีล่วงมาแล้ว

ปัจจุบันกีฬานี้ได้รับความสนใจจากคนยุโรปจำนวนมาก นักปีนผาเดินทางตามหาภูเขาที่เหมาะสมในการปีนไปตามประเทศต่างๆ และประเทศไทยก็มีภูเขาและวิวสวยๆ อยู่มาก เหมาะแก่การปีนที่สุด

แหล่งดึงดูดนักปีนผาทั่วโลกให้มาปีนก็คือไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ และกีฬาปีนหน้าผาในเมืองไทยก็ถือกำเนิดจากไร่เลย์ กระจายความสนุกของกีฬามาถึงเมืองกรุง

การแข่งขันปีนหน้าผาครั้งแรกของสินเป็นการปีนแบบ ทอปโรป (top rope) ซึ่งเป็นแบบมีเชือกนำ การปีนแบบนี้ต้องมีสองคน คือ climber ผู้ปีน และบีเลเยอร์ (belayer) ซึ่งเป็นคนคอยควบคุมเชือกเพื่อดูแลความปลอดภัยและเป็นเนวิเกเตอร์ให้กับผู้ปีนด้วย เป็นการปีนที่ปลอดภัยแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อุปกรณ์มีเชือก (rope) ฮาร์เนส (harness) หรือสายรัดนิรภัยคล้ายกับกางเกงยึดผู้ปีนกับเชือกไว้ด้วยกัน

รองเท้าปีนผาจะมีหัวแหลมคล้ายกลีบเท้าของเลียงผา หัวรองเท้าทำจากยางเพื่อยึดเท้าไว้กับผาหรือผนังได้ดี และสุดท้ายถุงใส่แป้งแมกนีเซียมคาร์บอเนต เอาไว้ทามือกันลื่นระหว่างปีน

การปีนผามีหลายรูปแบบ คือ ๑. top rope ๒. bouldering ๓. leader ๔. lead & deep water soloing สำหรับสไตล์การปีนที่สินชอบคือโบลเดอร์ริง (bouldering) เป็นการปีนแบบไร้เชือกด้วยความสูงประมาณ ๓ เมตร ไม่มีบีเลเยอร์คอยเซฟหรือบอกเส้นทางให้ ต้องใช้แรงตัวเองพาร่างกายขึ้นไปให้จบรูตหรือจุดหมายของเส้นทาง ซึ่งจะมีหินสีเดียวกันและจำนวนจำกัดตามเส้นทางทั้งหมดซึ่งเป็นระยะทางสั้น

ผู้ปีนต้องใช้สมองและประสบการณ์ของตัวเองในการปีน จะดัดแปลงท่าอย่างไรก็ได้ ข้อมือ ข้อเท้า เข่า ทุกส่วนของร่างกายสัมผัสหินได้ทั้งหมด

เด็กหนุ่มบอกว่าชอบการปีนแบบนี้ เพราะเป็นการปีนไปแบบไม่ต้องคิดมาก “อ่านรูตเสร็จก็ไปเลย” และต้องใช้พลังสูงมาก “ผมเป็นคนบ้าพลัง”

รายการที่สินภาคภูมิใจมากที่สุดคือการแข่งขันที่ฮ่องกงในปี ๒๕๕๗ ซึ่งเขาชนะรุ่นเยาวชน นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของสิน ก่อนหน้าที่จะไปแข่งรายการนี้สินได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันรายการหนึ่งทำให้นิ้วชี้ร้าวต้องใส่เฝือก แต่ด้วยใจไม่ย่อท้อ สินซ้อมทุกวันก่อนไปแข่งรายการที่ฮ่องกง โดยไม่ใช้นิ้วชี้ ด้วยตารางฝึกที่เรียกได้ว่าโหดและหินมากๆ ราว ๗-๑๐ ชั่วโมงต่อวัน ตอนเช้าตื่นมาวิ่ง ๓ ชั่วโมง เวตเทรนนิงอีก ๒ ชั่วโมง ตอนเย็นวิ่ง ๔ กิโลเมตร และเวตเทรนนิง ๒ ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความอึดถึก

เขาพยายามอย่างหนัก เพราะคิดว่าคนอื่นก็พยายามเหมือนกัน

ด้วยความพยายามของเขาจึงได้รางวัลเจ้าแห่งเอเชียรุ่นเยาวชนปีนั้นมาครองอย่างสวยงาม

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

กว่าจะมายืนจุดนี้นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย สินต้องผ่านอะไรมามากมาย ท้อบ้าง ล้มบ้าง เจ็บบ้าง

เขาเป็นนักมวยมาตั้งแต่ ๖ ขวบ เพราะต้นทุนชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน ฐานะครอบครัวไม่ดีนัก พ่อแม่จึงสอนให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้สู้ชีวิต โดยการเป็นนักมวยล่าเงินรางวัลมาเป็นเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัว

สินขึ้นชกเรื่อยมาจนมาเจอกีฬาปีนหน้าผา เมื่อลูกชอบพ่อก็สนับสนุน พาไปซ้อมผาจำลองตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เขาเริ่มแข่งไม่ว่าจะที่ไหนสินได้รับรางวัลติดไม้ติดมือมาทุกครั้ง

“ถึงจะได้ถ้วยรางวัลมามากแค่ไหน แต่ก็มีจุดที่ผมก็ท้อนะครับ เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า เมื่อเราแพ้ คนอื่นรอซ้ำผมเยอะ”

เวลาแบบนี้เขามักมีประโยคเตือนใจ “คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ แล้วเราต้องทำให้ดีกว่า”เป็นแรงผลักดันคอยบอกให้เขาอดทนและท้าทายตัวเองให้ก้าวต่อไป

กีฬาปีนผาไม่ได้ให้ถ้วยรางวัลกับเขาเพียงอย่างเดียว หากมอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกส่วน และยังฝึกสติ สมาธิ เพราะกีฬานี้ต้องใช้สมองคิดวิเคราะห์ หาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต้องงัดกลยุทธ์ปรับใช้วิธีการปีนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องอ่านเส้นทางที่ตนจะไปให้ออกเพื่อปีนจบเส้นทางให้ทันเวลาที่กำหนด

การเป็นนักกีฬาทีมชาติโอกาสที่คู่แข่งจะกลายมาเป็นศัตรูก็อาจเกิดขึ้น แต่ ภาคภูมิ งามแฉล้ม ประธานชมรมปีนผาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและเพื่อนที่จริงใจของสินเล่าว่า

“ผมเจอสินหลายครั้งมาก เรียกได้ว่าเจอกันทุกรายการ ในประเทศไทยวงการกีฬาปีนหน้าผายังไม่ดัง สังคมยังแคบ เพราะฉะนั้นคนที่เข้าร่วมการแข่งปีนผาจะมีแต่หน้าเดิมๆ และจำหน้ากันได้”

การแข่งขันทำให้เขารู้จักกับสินและเริ่มสนิทกันมากขึ้น เวลามีข้อสงสัยเกี่ยวกับปีนผาเขาก็จะถามสิน เวลาสินมีข้อสงสัยก็จะถามเขา พวกเขาจะแลกเปลี่ยนกันเสมอจนคุ้นเคยเหมือนคนในครอบครัว

“ชมรมปีนหน้าผาที่มหาวิทยาลัยของผมก็เช่นกัน เปรียบเสมือนครอบครัว เป็นกลุ่มสังคมใหม่ของตัวผมและคนในชมรม”

สมาชิกในชมรมจะไม่ซ้ำเติมหรืออวดเบ่งความเก่งของตัวเอง กลับคอยเอาใจช่วยกันจนถึงที่สุดให้สมาชิกปีนไปให้จบเส้นทาง คอยช่วยปรับแต่งแก้ไขท่าทาง ช่วยกันฝึกฝนจากพื้นฐาน แชร์เทคนิคการปีนให้แก่กัน
และคอยตะโกนให้กำลังใจจนสุดเสียง

กีฬาปีนผา แสงเทียนนำทางนักกีฬาปีนหน้าผา

แม้จะได้รางวัลจากรายการแข่งขันที่ประเทศฮ่องกง แต่ที่ซ้อมขณะนั้นกลับไม่ตอบโจทย์สไตล์การแข่งและการใช้ชีวิตที่ดี สินจึงออกมาตามหา ”อิสระ” ทำให้ต้องหยุดการแข่งขันไปถึง ๑ ปี จนได้ครูต้อมเจ้าของยิม Proclimber Thailand เป็นทั้งครูและโค้ชคอยสนับสนุนให้สินไปแข่งตามรายการต่างๆ ตั้งแต่จัดสถานที่ซ้อม ตั๋วเครื่องบินไปแข่งตามประเทศต่างๆ และที่พัก

“กีฬาปีนผายังไม่ดังในประเทศของเรา วงการกีฬาปีนหน้าผาแคบ คนรู้จักน้อย จะไปขอใครมาเป็นผู้สนับสนุนก็ยาก และยังไม่มีผลงานถึงขั้นติดอันดับต้นๆ ของโลกด้วย”

สินไปแข่งรายการ Word Cup ในปี ๒๕๕๗ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ มีสถิติอันดับที่ ๒๔ ของโลก และเป็นคนไทยคนเดียวที่ไปถึงอันดับนั้น สินบอกเจตนารมณ์ว่าเขาอยากไปสร้างชื่อเสียงให้เมืองไทยจึงอยากไปแข่งรายการ Word Cup ที่ยุโรป แต่ขาดการสนับสนุนที่ดีทำให้เขาไม่ได้ไป

“รายการที่ผมไปแข่งที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ผมคว้าอันดับที่ ๔ จาก ๗๐ คน แต่ผมไปด้วยทุนของตัวเอง” สินเสริม “อย่างประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลให้งบสนับสนุนตลอด ถึงแม้ว่านักกีฬาไม่มีผลงานอะไร เพียงทางสมาคมขอไปรัฐบาลก็สนองให้แทบทันที เพราะกีฬาปีนผาในญี่ปุ่นมีแต่คนรู้จัก และผลงานก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย”

ครูต้อม-ไกรศักดิ์ บุญทิพย์ เจ้าของยิม Proclimber Thailand เล่าว่าเขาเติบโตในประเทศอิตาลี เมื่อ ๓๔ ปีที่แล้วอิตาลีก็เหมือนไทยตอนนี้ ยังมองว่าคนปีนผาเป็นคนบ้า ครูต้อมผันตัวเองมาเป็นนักปีนผามืออาชีพแต่ก็ไปไม่รอด แต่ตอนนี้อิตาลียอมรับและสนับสนุน มีการท่องเที่ยวสอนการปีนหน้าผา และเปิดกิจการขายอุปกรณ์การปีนหน้าผาและเปิดคอร์สสอนกันเต็มรูปแบบ

เมื่อครูต้อมกลับมาที่ไทยก็ยังคงโดนมองว่าบ้า เพราะยังมีทัศนคติว่ากีฬานี้เสี่ยงอันตราย แต่ถ้าได้ศึกษาอย่างจริงจังจะรู้เลยว่าปลอดภัยและให้อะไรมากกว่าที่คิด

การปีนผาทำให้ใจเย็นลง มีสมาธิมากขึ้น เมื่ออยู่บนหน้าผาสมาธิของคุณจะจดจ่อกับหินตรงหน้าเพื่อพาตัวเองไปจนจบเส้นทาง

“ผมตั้งยิมนี้เพื่อไว้ให้คนที่สนใจกีฬานี้มีที่ฝึกซ้อม”

กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของนักกีฬาปีนผาที่โลดแล่นอยู่ในวงการต่างเคยมาปีนที่นี่แทบทุกคน เหรียญรางวัลที่อัดแน่นเต็มตู้โชว์นับไม่ถูกเลยว่ามีกี่เหรียญ

ปัจจุบันเริ่มมียิมปีนผาเยอะขึ้น เช่น Proclimber Thailand, Rock Domain Climbing Gym Bangkok, Urban playground climbing, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ฯลฯ

การบอกต่อๆกันอย่างการถ่ายภาพและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ทำให้ผู้คนจำนวนมากอยากไปลองบ้าง

สินแนะนำนักปีนหน้าผามือใหม่ที่อยากมาลองเล่นกีฬานี้ว่า

“ในชีวิตของเราทุกคนไม่มีอะไรยากหรอกครับเพียงคุณลองเปิดใจ เพราะกีฬาปีนหน้าผามีหลายรูปแบบให้เราได้ลองปีน ตั้งแต่แบบง่ายจนไปถึงยาก ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอันตราย ปลอดภัยแน่นอนครับ”

เมื่อก่อนการปีนหน้าผาสำหรับเราดูเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน แต่เมื่อได้มาลองปีนด้วยตัวเองแล้วกลับชอบกีฬาชนิดนี้เอามากๆ

เพราะกีฬานี้สอนเราให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

ถ้ารูตไหนยากผ่านไปไม่ได้เราจะหาวิธีปรับปรุงแก้ไขเพื่อก้าวผ่านขีดจำกัด ฝึกซ้อมให้มากขึ้น ทำให้ดีที่สุด จนเราผ่านมันไปได้

อุปสรรคในชีวิตก็เช่นกันทุกคนต่างหาทางออกดีที่สุดให้ตัวเองเพื่อที่จะผ่านมันไปให้ได้ เรียนรู้จากข้อบกพร่อง แก้ไข และพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปอีกขั้น

หากคุณยอมแพ้หรือหนีปัญหา คุณแค่หันหลังให้มัน และไม่ได้พัฒนาอะไรให้กับชีวิต

หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ “กีฬาปีนผา และบทสัมภาษณ์นักกีฬาปีนผาตัวแทนประเทศไทย”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Search

Popular Posts

Tags

Baseball (1) Cartier Love bracelet (1) Egg Tart (1) News (1) Sport (2) Sushi (1) Thai (1) Traditional Sport (1) กำไล Cartier (1) กำไลแบรนด์เนม (1) ขนมไต้หวัน (1) ข่าวกีฬา (1) ซูชิ (1) ซูชิ คือ (1) ซูชิปลาดิบ (1) ดื่มชานมบ่อย (1) ทาร์ตไข่ (1) ท่องเที่ยว (2) น้ำหอม (1) บูเดจิเก (1) บูเดจิเก สูตร (1) ประโยชน์ของ ผักกระเฉด (1) ผักและผลไม้ (3) ฟีฟ่า (FIFA) (1) ฟุตบอลอิตาลี (1) ภูกระดึง (1) ยูฟ่า (UEFA) (1) ยูโรป้า ลิเวอร์พูล (1) ยูโรป้าลีก 2023 (1) ยูโร ป้า ลีก รอบ 16 ทีม 2023 (1) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (1) วิธีทำแกงส้มผักรวม (1) วิธีทําหม้อไฟเกาหลี (1) วีแกน พบ แมนยู (1) สายมู (1) สุขภาพ (6) สูตรทาร์ตไข่ (1) สโมสรในอิตาลี (1) หม้อไฟเกาหลี (1) อาหาร (8) อาหารญี่ปุ่น (1) อาหารประจำชาติ (1) เสพติดชานม (1) แกงส้มมะละกอ (1) โรคซึมเศร้า (1)